อุปกรณ์เพาะถั่วงอก

อุปกรณ์เพาะถั่วงอกนี้เกิดจากการทดสอบและทดลองเพื่อให้ได้ถั่วงอกที่มีคุณภาพในปริมาณมาก ส่วนประกอบต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปแล้วนำมารวม ๆ กัน ต้นทุนต่อชุดไม่มาก คนเพาะถั่วงอกมือใหม่ไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลาทำตามนี้แล้วได้ผลแน่นอน เหมาะสำหรับท่านที่ต้องการเพาะถั่วงอกเป็นอาชีพ หรืออาชีพเสริมที่ต้องการถั่วงอกในแต่ละวันในปริมาณมากและลดต้นทุนค่าแรงงาน

- ถังน้ำพลาสติกขนาด 60 ลิตร ราคา 180 บาท ช่วงลดราคา 79 บาท

- เจาะรูที่ก้นถัง
- กะละมังขนาด 30 ลิตร ราคา 105 บาท แนะนำแบบที่แข็งแรงทนน้ำหนักกดทับ 25 กิโลกรัมได้ มีขายที่แมคโครที่เดียว ห้างอื่นดูแล้วไม่มีแบบนี้
 - ปั้มน้ำ ขนาดความแรง 2500 ราคา 300 บาท
 - ถาดพลาสติกขนาด 18 นิ้ว และเจาะรู อันละ 25 บาท
 - ตาข่ายพลาสติกขนาด 2 มิลลิเมตร และขนาด 4 มิลลิเมตร เอาไว้รองก้นถังเพาะ ตารางเมตรละ 40 บาท
 - หัวเชื้อ EM บริสุทธิ์ ไว้สำหรับใส่ลงในกะละมังน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย และทำให้ถั่วงอกขาว ลิตรละ 80 บาท
 - เครื่องตั้งเวลารดน้ำ ปกติแล้วเครื่องนี้มี 2 โหมดการทำงาน คือรดน้ำทุก 5 นาที และทุก 2 ชั่วโมง แต่เนื่องจากวิธีเพาะถั่วงอกแบบนี้เหมาะกับการรดน้ำทุก 1 ชั่วโมง จึงขอให้ผู้ขายเครื่องนี้แก้ไขให้ เขาก็ทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เครื่องตั้งเวลารดน้ำนี้สามารถต่อพ่วงเข้ากับถังเพาะได้มากถึง 20 ถัง ราคา 850 บาท

 - เมื่อนำมาประกอบกันแล้วจะได้อย่างนี้ ง่าย ๆ แค่ใช้ปั้มน้ำดูดน้ำขึ้นมารดถั่วงอกทุก 1 ชั่วโมง

 ขั้นตอนการเพาะถั่วงอก


- แช่เมล็ดถั่วเขียวในน้ำที่อุณหภูมิ 50-55 องศา เพื่อความแม่นยำต้องใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเท่านั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการงอกเร็ว โดยให้ปริมาณน้ำพอให้ท่วมเมล็ดถั่วก็พอ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ถ้าอุณหภูมิน้อยกว่านี้ก็จะทำให้เมล็ดถั่วงอกไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ก็จะทำให้เมล็ดถั่วเขียวสุกเกินไปจะทำให้เพาะไม่งอกและเน่าเสียในที่สุด พอน้ำเย็นลงแล้วให้เติมน้ำเผื่อไว้ให้พอกับที่เมล็ดถั่วจะพองขึ้น แช่ไว้ 5-6 ชั่วโมง อย่าให้เวลาขาดหรือเกินจากนี้เพราะจะมีผลกับการงอกของเมล็ดถั่วอย่างมาก

- เมื่อแช่เมล็ดถั่วครบ 5-6 ชั่วโมง ก็ถึงเวลาที่จะนำเมล็ดถั่วลงในถังเพาะ ที่ถังเพาะให้รองก้นถังด้วยตาข่ายพลาสติกขนาด 2 มิลลิเมตรอยู่ด้านล่าง ขนาด 4 มิลลิเมตรอยู่ด้านบน เหตุผลที่ใส่ตาขายพลาสติกสองชั้นก็เพื่อให้ง่ายต่อการตัดรากในก้นถังเพาะ
 - จากนั้นก็ใส่เมล็ดถั่วที่แช่ไว้แล้วลงไป สามาถใส่ได้ 2-3 กิโลกรัม จะได้ถั่วงอกประมาณ 21-24 กิโลกรัมขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยให้ต้นถั่วยาวขนาดใหน โดยปกติถ้าเพาะแบบปลอดสารพิษ เมล็ดถั่วเขียว 1 กิโลกรัม สามารถเพาะถั่วงอกได้มากถึง 7 กิโลกรัม แต่ถ้าเพาะแบบไม่ปลอดสารพิษจะให้ถั่วงอก 9-10 กิโลกรัม

- วางกระสอบป่านคลุมทับด้านบน สาเหตุที่ใช้กระสอบป่านทับด้านบนเนื่องสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากจึงให้ความชุ่มชึ้นแก่เมล็ดถั่วได้นาน อีกเหตผลหนึ่งก็คือเวลารดน้ำถั่วงอกนั้นน้ำสามารถไหลผ่านลงไปได้เลยโดยไม่ไหลออกด้านข้างเหมือนกับที่ใช้ผ้าหรือวัสดุอื่น
 
 - นำถังเพาะเข้าโรงเพาะ ติดตั้งอุปกรณ์รดน้ำ ในกะละมังรองน้ำเติมน้ำให้เต็มและใส่หัวเชื้อ EM บริสุทธิ์ลงไป 3 ช้อนโต๊ะเพียงครั้งเดียว อัตราส่วนที่เหมาะสมของหัวเชื้อ EM ต่อน้ำคือ น้ำ 10 ลิตรต่อ EM 1 ช้อนโต๊ะ ใช้เวลาสามวันครึ่งถึงสี่วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าจะร้อนหรือเย็นขนาดใหน ในระหว่างวันให้เติมน้ำส่วนที่หายไปให้เต็มกะลังมังรองน้ำทุกวันโดยไม่ต้องเต็ม EM อีก


- น้ำที่ใช้ในระบบหมุนเวียนรดถั่วงอกต้องเป็นน้ำประปาและปล่อยให้คลอรีนระเหยออกแล้วยิ่งจะดีมาก

- ห้องหรือโรงเพาะถั่วงอก ต้องเป็นห้องที่มืดไม่มีแสงสว่างเข้าหรือมีความสว่างน้อยมาก เนื่องจากว่าถั่วงอกที่อยู่ด้านบนถ้าได้แสงสว่างจะทำให้เกิดใบ ลำต้นจะไม่ขาวจะทำให้ได้ถั่วงอกไม่สวย

- ถั่วงอกที่ได้หน้าตาจะออกมาแบบนี้ ขาว สวย หมวย แต่ไม่ค่อยจะอึ๋มเท่าใหร่ ปลอดสารพิษ 100%

- ถั่วงอกที่อยู่ด้านล่างสุดของถังเพาะจะอ้วนกว่าด้านบนเนื่องจากโดนกดทับจากด้านบน